79128 0

วันที่ 2 เมษายน  2567 น.สพ.สมบัติ ศุภประภากร ปศุสัตว์จังหวัดลำพูน มอบหมายให้ น.สพ.อภิเษก คงศิลา นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ นำเจ้าหน้าที่กลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอแม่ทา และเจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ลำพูน บูรณาการร่วมกันในการมุ่งสร้างพื้นที่อำเภอเมืองลำพูนเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า และรักษาสถานภาพพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่อำเภอแม่ทา โดยดำเนินการออกหน่วยปศุสัตว์เคลื่อนที่ให้บริการผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมวด้อยโอกาส ณ วัดพระบาทน้ำเต้า หมู่ 12 ตำบลเหมืองจี้ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน และอารามสงฆ์ป่าไม้ ตำบลทาขุมเงิน อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ตามโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการในการผ่าตัดทำหมัน และฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขและแมวได้อย่างทั่วถึงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย รวมถึงการควบคุมจำนวนประชากรสุนัขและแมว ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในคนและสัตว์ สอดรับกับเป้าหมายขององค์การอนามัยโลกในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไป และตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงมีพระปณิธานแน่วแน่ที่จะให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไปจากประเทศไทย ภายในปี 2568
โดยกรมปศุสัตว์ ได้สนองพระปณิธานฯ กำหนดให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทุกจังหวัด จัดหน่วยปศุสัตว์เคลื่อนที่ให้บริการผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมว และให้ความรู้ด้านโรคพิษสุนัขบ้า แก่ประชาชนในพื้นที่โดยมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สาธารณสุข วัด สถานศึกษา เป็นต้น

>>>ผลการปฏิบัติงานของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลำพูน ดังนี้
- การให้บริการควบคุมประชากรโดยการผ่าตัดทำหมัน จำนวนทั้งสิ้น 9 ตัว
> สุนัข 5 ตัว
=>เพศผู้ 2 ตัว เพศเมีย 3 ตัว
> แมว 4 ตัว
=>เพศผู้ 1 ตัว เพศเมีย 3 ตัว
- การให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สุนัขและแมวด้อยโอกาส จำนวน 9 ตัว
การให้บริการตามโครงการฯ ดังกล่าวไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ผลการออกหน่วยปศุสัตว์เคลื่อนที่ครั้งนี้ ผู้รับบริการในพื้นที่มีความพึงพอใจมากต่อนโยบายกรมปศุสัตว์ที่จัดหน่วยปศุสัตว์เคลื่อนที่ออกบริการในพื้นที่ที่ขาดแคลนสถานพยาบาลสัตว์หรือพื้นที่ที่การเดินทางมีความยากลำบากในการนำสัตว์เลี้ยงมารับบริการ และมีความต้องการรับบริการด้านการสุขภิบาลสัตว์เลี้ยง ทำให้สัตว์เลี้ยงได้รับการบริการได้อย่างทั่วถึง และมีสวัสดิภาพสัตว์ที่ดีขึ้น