
วันนี้ 23 เมษายน 2568 ที่ ศาลากลางจังหวัดลำพูน กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม จ.ลำพูน เข้ายื่นเรื่องต่อจังหวัดลำพูน กรณีน้ำนมดิบของกลุ่มไม่มีแหล่งจำหน่าย โดยนายวิวัฒน์ อินทร์ไทยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน มอบหมายให้นายชาตรี ธินนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นผู้แทนรับเรื่องพร้อมกับให้ข้อมูลแนวทางให้การช่วยเหลือของจังหวัดลำพูน ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
นายสมบัติ ศุภประภากร ปศุสัตว์จังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า จากกรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากสหกรณ์การเกษตรแม่ทา ซึ่งมีสมาชิกในสหกรณ์ทั้งสิ้น 32 ราย มีกำลังผลิตน้ำนมได้เฉลี่ยประมาณ 11.7 ตัน/วัน ก่อนนี้สหกรณ์การเกษตรแม่ทา ในฐานะผู้รวบรวมน้ำนมดิบส่งขายให้กับบริษัทเอกชน เพื่อนำไปผลิตนม UHT ในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนประสบปัญหาไม่สามารถรับซื้อน้ำนมดิบต่อเนื่องได้ จากปกติจะรับซื้อน้ำนมดิบจากสหกรณ์ได้ปริมาณ 7 ตัน/วัน
โดยเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม 2568 สหกรณ์การเกษตรแม่ทา ได้รับหนังสือจากทางบริษัทว่าให้เตรียมความพร้อมหาแหล่งระบายน้ำนมดิบ เนื่องจากบริษัทอาจได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ ตามโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน จนทำให้บริษัทอาจต้องหยุดดำเนินกิจการ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568 เป็นต้นไป
ปศุสัตว์จังหวัดลำพูน กล่าวต่อว่า จังหวัดลำพูน ได้ทำหนังสือไปยังสหกรณ์โคนมเชียงใหม่ จำกัด ในฐานะเลขาฯ ภาค ให้รับทราบปัญหาและส่งเรื่องต่อไปส่วนกลางเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาดังกล่าว ขณะเดียวกัน ก็ได้หาแนวทางให้การช่วยเหลือเบื้องต้น ด้วยการบริหารจัดการน้ำนมที่ไม่มีแหล่งจำหน่าย โดยการนำไปแปรรูปเป็นนมกล่อง UHT แล้วนำกลับมาจำหน่ายในจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
จากนั้น เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับทราบปัญหาดังกล่าวโดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าประชุมหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมติที่ประชุมได้มอบหมายให้องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย หรือ อ.ส.ค. เป็นผู้รับผิดชอบในการรับซื้อน้ำนมดิบ ต่อมาพบว่ายังมีปัญหาเรื่องเงื่อนไขการรับซื้อบางประการระหว่าง อ.ส.ค. และสหกรณ์การเกษตรแม่ทา จึงทำให้ยังไม่สามารถรับซื้อน้ำนมได้ ส่งผลให้ปริมาณนมค้างในระบบถังของสหกรณ์การเกษตรแม่ทา
ประกอบกับยังคงมีการผลิตน้ำนมดิบออกมาต่อเนื่องทุกวัน เฉลี่ยประมาณ 11.7 ตัน/วัน สหกรณ์การเกษตรแม่ทา จึงมีประกาศงดรับซื้อน้ำนมดิบจากสมาชิกสหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2568 เป็นต้นมา เพื่อแก้ปัญหาถังเก็บไม่เพียงพอต่อการรับซื้อน้ำนมเป็นการชั่วคราว
ปศุสัตว์จังหวัดลำพูน กล่าวด้วยว่า จังหวัดลำพูน โดยปศุสัตว์จังหวัด ร่วมกับ สหกรณ์จังหวัดลำพูน ได้ประสานความร่วมมือเพื่อเร่งระบายน้ำนมดิบออก โดยแนวทาง ดังนี้
1.การนำไปแปรรูป เพื่อให้ถังเก็บน้ำนมของสหกรณ์การเกษตรแม่ทาว่างลง
2.นำน้ำนมไปฝากศูนย์นมอื่นๆ ในภาคเหนือเพื่อให้ถังเก็บนมของสหกรณ์การเกษตรแม่ทาว่างลง และสามารถรับซื้อน้ำนมจากสมาชิกสหกรณ์ได้
3.ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ใช้น้ำนมดิบจากแม่โคเลี้ยงลูกโค แทนที่จะใช้นม
4.ลดการให้อาหารข้นลงเหลือ 1 ใน 3 เพื่อลดการให้นมของแม่โค เพื่อให้สามารถบริหารจัดการกับปริมาณน้ำนมได้
5.ประสานงานกับโรงงานผลิตและแปรรูป ผลิตเป็นนม UHT และนมผง เก็บเป็นสต็อกไว้เพื่อจำหน่าย
ปศุสัตว์จังหวัดลำพูน ยืนยันว่า จังหวัดลำพูน ไม่นิ่งนอนใจพยายามหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง โดยในวันนี้ (23 เมษายน 2568) มีรายงานว่า อธิบดีกรมปศุสัตว์ จะหารือร่วมกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนมรายใหญ่ของประเทศ ซึ่งประสบปัญหาที่คล้ายคลึงกัน เพื่อหาแนวทางนำน้ำนมดิบในภาพรวมไปแปรรูปเป็นนมผง โดยให้ภาคอุตสาหกรรมผู้ผลิตนมประเภทต่างๆ ใช้นมผงแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะได้นำข้อสรุปทั้งหมด เรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป หากมีความคืบหน้าจะรายงานให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมลำพูน และผู้เกี่ยวข้องได้ทราบอย่างเร่งด่วนต่อไป