เตือนภัยโรคปากและเท้าเปื่อย
ด้วยระยะนี้ กรมปศุสัตว์แจ้งเตือนภัยพบการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยในโคนมหลายพื้นที่ในประเทศไทย ได้แก่ พื้นที่ อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี อำเภอมวกเหล็กและอำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และมีแนวโน้มอาจพบการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มขึ้น ประกอบกับระยะนี้ทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยมีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง อยู่ช่วงระหว่างรอยต่อฤดูฝนและฤดูหนาว ทำให้สุขภาพสัตว์อ่อนแอ ภูมิคุ้มกันโรคต่ำ มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคได้ง่าย ประกอบกับข้อมูลระบาดวิทยาของจังหวัดลำพูน บ่งชี้ มักมีการการแพร่ระบาดของโรคปากและ เท้าเปื่อย โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลัง
โรคปากและเท้าเปื่อยเป็นโรคติดต่อที่สำคัญ ใน โค กระบือ แพะ แกะและสุกร ซึ่งมีสาเหตุจาก เชื้อไวรัส ที่สามารถติดต่อและแพร่กระจายได้โดยการกินหรือสัมผัสกับสัตว์ป่วยโดยตรง หรือเชื้อที่ปนเปื้อนจากถังนม คน ยานพาหนะ รวมทั้งเชื้อไวรัสยังสามารถล่องลอยไปกับอากาศได้ โดยเชื้อไวรัสจะถูกขับออกมาจากสัตว์ป่วยทางน้ำมูก น้ำลาย น้ำนม มูลสัตว์ ลมหายใจและบาดแผล สัตว์ที่ป่วยจะแสดงอาการซึม มีไข้ เบื่ออาหาร มีเม็ดตุ่มพองเกิดขึ้นที่ริมฝีปาก ช่องปากและไรกีบทำให้น้ำลายไหล กินอาหารไม่ได้ และเดินกะเผลก ในโคนมอาจมีเม็ดตุ่มที่เต้านม ทำให้เต้านมอักเสบได้ เนื่องจากโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสจึงไม่มียาในการรักษาโดยตรง แต่อาจจะใช้ยาปฏิชีวนะ ยาทากีบ ยาม่วง หรือยาลดการอักเสบ เพื่อลดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนและบรรเทาอาการ เท่านั้น
ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสียหายกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้เลี้ยงสัตว์กีบคู่ชนิดอื่นๆ ได้ จึงขอความร่วมมือศูนย์ รับนม สหกรณ์โคนม และเกษตรกรในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค ดังนี้
1. เป็นเครือข่ายการเฝ้าระวัง ค้นหาโรคปากและเท้าเปื่อยในโคนม โดยทำการตรวจสอบฟาร์ม โคนมของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกการชื้อขายน้ำนมดิบของท่าน จากข้อมูลที่สงสัยว่าจะมีการเกิดโรคปากและเท้าเปื่อย เช่น ปริมาณน้ำนมผลผลิตเฉลี่ยของฟาร์มที่ลดลงอย่างผิดปกติ หรือหากเจ้าหน้าที่ของท่านตรวจพบฟาร์มที่เป็นโรคปากและเท้าเปื่อย ขอให้ท่านแจ้งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ทราบทันที่ ได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ ประจำพื้นที่ หรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด “แจ้งการเกิดโรคระบาด” เพื่อเข้าดำเนินการตรวจสอบและ การควบคุมโรคโดยเร็ว
2. เข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ เช่น พ่นยาฆ่าเชื้อรถทุกคันที่เข้า-ออกศูนย์รับนมหรือสหกรณ์ โคนม ตลอดจนป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคปากและเท้าเปื่อยจากผู้ปฏิบัติงาน
3. ประชาสัมพันธ์ให้เน้นย้ำเกษตรกรที่ยังไม่มีโคนมป่วยด้วยโรคปากและเท้าเปื่อย ป้องกันการ นำโรคเข้าฟาร์ม ดังนี้
๐ งดการซื้อขายและนำเข้าสัตว์มาเลี้ยงใหม่ จากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย อย่างน้อย 1 เดือน หรือจนกว่าสถานการณ์การระบาดของโรคสงบ ซึ่งสามารถสอบถามหรือตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงาน ปศุสัตว์จังหวัด หรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่
๐ เข้มงวดการจัดการเพื่อป้องกันโรคเข้าฟาร์ม เช่น
๑.) ห้ามบุคคลภายนอกเข้าฟาร์มโคนม หากจำเป็นต้องเปลี่ยนรองเท้าที่ใช้เฉพาะ ภายในฟาร์มและเดินผ่านอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้งก่อนเข้าบริเวณรีดนม และที่เลี้ยงโคนม
๒.) ห้ามยานพาหนะทุกชนิด เช่น รถรับซื้อสัตว์ รถขนอาหารสัตว์ รถรับซื้อมูลสัตว์ เข้าภายในฟาร์มโดยเด็ดขาด หากจำเป็นต้องพ่นยาฆ่าเชื้อโรค และจัดให้ยานพาหนะฯ ดังกล่าว อยู่ไกลจากสถานที่เลี้ยงสัตว์ให้มากที่สุด
๓.) ทำความสะอาดและทำลายเชื้อโรคที่ถังส่งนมและอุปกรณ์ต่างๆ ก่อนนำเข้าฟาร์ม
๔.) เลือกซื้อพืชอาหารสัตว์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ว่าไม่มีการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย
4. หากฟาร์มอยู่ในพื้นที่ที่มีโรคปากและเท้าเปื่อยระบาดให้หลีกเลี่ยงการผสมเทียม และงดการนำสัตว์เข้าเลี้ยงใหม่ในช่วงที่มีโรคระบาดอยู่
5. หากพบโคนมป่วย หรือสงสัยว่าเป็นโรคปากและเท้าเปื่อย ให้รีบแจ้งแจ้งเจ้าหน้าที่ กรมปศุสัตว์เข้าช่วยเหลือในการควบคุมโรคโดยเร็ว ทั้งนี้ถ้าเกษตรกรไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบภายใน 12 ชั่วโมง และเป็นเหตุให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงเกิดความเสียหาย มีโทษตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558
สำหรับฟาร์มที่มีโรคระบาดแล้ว แนะนำให้เกษตรกรป้องกันการแพร่กระจายของโรคทั้ง ภายในฟาร์มและออกนอกฟาร์ม ดังนี้
๑.) จัดให้มีพื้นที่เฉพาะสำหรับกักแยกสัตว์ป่วยให้ห่างจากสัตว์ปกติให้มากที่สุด
๒.) แยกบุคคลสำหรับดูแลสัตว์ป่วย หากไม่สามารถทำได้ให้จัดลำดับโดยต้องทำกิจกรรมกับ สัตว์ป่วยเป็นลำดับสุดท้าย
๓.) แยกอุปกรณ์ของสัตว์ป่วยกับสัตว์ปกติ
๔.) งดอาบน้ำสัตว์ป่วยเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อภายในฟาร์มไปกับละอองฝอย
๕.) ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อตามพื้นคอกเป็นประจำแต่ต้องไม่ใช้เครื่องพ่นยาแรงดันสูง เนื่องจากจะทำให้เชื้อโรคฟุ้งกระจาย
๖.) งดส่งนมและไม่จำหน่ายมูลโคสดออกนอกฟาร์ม
7.) งดผสมเทียม จนกว่าสัตว์ป่วยตัวสุดท้ายหายป่วยเป็นเวลาอย่างน้อย 10 วัน
8.) หมั่นสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงในพื้นที่ หากพบสัตว์แสดงอาการป่วย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ หรือ ปศุสัตว์จังหวัด เพื่อให้ความช่วยเหลือ ควบคุมป้องกันโรคฯ โดยเร่งด่วนต่อไป
ทั้งนี้ ขอให้เกษตรกร หมั่นสังเกตอาการสัตว์เลี้ยง หากพบสัตว์แสดงผิดปกติหรือสงสัย หรือต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม หรือแจ้งข่าว สามารถติดต่อได้ที่ต่อเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอประจำพื้นที่ หรือที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลำพูน กลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ หมายเลขโทรศัพท์ 053-511-288 ต่อ 15 หรือ
จดหมายอีเล็กโทรนิกส์ ; This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.สำหรับหมายเลขโทรศัพท์ของสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ ประจำพื้นที่ มีดังต่อไปนี้
สำนักงานปศุสัตว์อำเภอเมืองลำพูน หมายเลขโทรศัพท์ 053-510-568
สำนักงานปศุสัตว์อำเภอป่าซาง หมายเลขโทรศัพท์ 053-005-177
สำนักงานปศุสัตว์อำเภอบ้านโฮ่ง หมายเลขโทรศัพท์ 053-980-558
สำนักงานปศุสัตว์อำเภอลี้ หมายเลขโทรศัพท์ 053-979-474
สำนักงานปศุสัตว์อำเภอแม่ทา หมายเลขโทรศัพท์ 053-976-590
สำนักงานปศุสัตว์อำเภอทุ่งหัวช้าง หมายเลขโทรศัพท์ 053-975-223
สำนักงานปศุสัตว์อำเภอบ้านธิ หมายเลขโทรศัพท์ 064-269-0915
สำนักงานปศุสัตว์อำเภอเวียงหนองล่อง หมายเลขโทรศัพท์ 053-096-049
ข้อมูล / ข่าว : กลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลำพูน