S 22544616 0

     วันที่ 30 เมษายน 2568 เวลา 9.00 น. สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลำพูน นำโดย นสพ. สมบัติ ศุภประภากร ปศุสัตว์จังหวัดลำพูน พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่กลุ่มพัฒนาสินค้าปศุสัตว์ กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ และกลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศการปศุสัตว์เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำแผนพัฒนายกระดับสินค้าเกษตร (น้ำนมดิบ) ภายใต้โครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูงประจำปีงบประมาณ 2568 เพื่อแลกเปลี่ยนการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำนมดิบและระดมความคิดเห็นในการยกระดับน้ำนมโค สู่เกษตรมูลค่าสูงภายใต้กรอบ BCG model ต่อไป และนำไปสู่การเชื่อมโยงเครือข่ายและเพิ่มช่องทางการตลาดน้ำนมดิบให้มีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน ณ ห้องประชุมพรพนา รีสอร์ท ลำพูน มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ผู้ประกอบการ และผู้จัดการสหกรณ์/ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ

     การเสวนา “โคนมไทย รุ่งหรือร่วง ภายใต้ FTA และสถานการณ์การค้าโลก” และ “ทิศทางการพัฒนาโคนมจังหวัดลำพูน สู่เกษตรมูลค่าสูง ภายใต้กรอบ BCG model“ ได้รับเกียรติจากผู้ประกอบการทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ รวมถึงอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หัวใจหลักของการเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม คือ นมคุณภาพดี ต้นทุนการผลิตต่ำ และเกษตรกรมั่นใจในตัวเอง อาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเป็นอาชีพทางการเกษตรเพียงอย่างเดียวที่สามารถคาดเดารายได้ต่อเดือนได้ เนื่องจากมีราคากลางที่ชัดเจน และราคาขายจะขึ้นอยู่กับคุณภาพน้ำนมดิบ นั่นคือผลของการจัดการดูแลฟาร์มและโคของเกษตรกรเอง ในส่วนของจัดการฟาร์มทั่วไปเกษตรกรล้วนปฏิบัติเป็นประจำ แต่ปัจจุบันเกษตรกรยังขาดองค์ความรู้ด้านการแปรรูป การใช้เทคโนโลยี อีกทั้งเกษตรกรให้ความสำคัญและมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มจำนวนโคมากกว่าปริมาณน้ำนมที่แม่โคผลิตได้ต่อตัวต่อวัน เป็นผลทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ผู้ร่วมเสวนาให้ความเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็น ต้นน้ำ กลางน้ำ หรือปลายน้ำ ล้วนต้องใส่ใจการผลิตและให้ความสำคัญกับเกษตรกร

     ผศ.ดร. วันชาติ นภาศรี อาจารย์คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกร ยังนิยามคำว่า เกษตรกรรม คือ การผลิตผลผลิตทางการเกษตร เท่านั้น ซึ่งหากจะให้เกษตรกรรมก้าวหน้ามากขึ้น ต้องใช้คำว่า เกษตรอุตสาหกรรม โดยคำนึงถึงต้นทุนการผลิต กระบวนการผลิต และการแปรรูปผลผลิต ในการระดมความคิดเห็นจัดทำกรอบแผนงาน ได้หัวข้อ solution ดังนี้

1. เทคโนโลยีเกี่ยวกับการรีดนมวัว (pipe line)

2. Application (iFarmer+ , zyan dairy)

3. Bio-gas/โซล่าเซลล์

4. โรงผลิตนมพาสเจอไรซ์/สเตอร์ริไรซ์/นมผง

5. การส่งเสริมการบริโภคนมทุกช่วงวัย

6. แนวทางการจัดตั้งกองทุนจัดการน้ำนมดิบ

7. การแปรรูปนม/การเพิ่มช่องทางการตลาด

8. การคัดเลือกพันธุ์โค

ในการประชุมครั้งถัดไปจะเป็นการระดมความคิดเห็นการจัดทำโครงการ ที่เกี่ยวข้องกับ solution ที่ได้ในครั้งนี้