Corn

“ไชยา” ชู “นาวังโมเดล” ต้นแบบอาหารสัตว์คุณภาพสูง รับมือสู้วิกฤตอาหารสัตว์แพง ด้วยการใช้ “ข้าวโพดหมัก” เลี้ยงโคนม พิสูจน์แล้วของสมาชิกสหกรณ์โคนมหนองบัวลำภู พบว่าปริมาณน้ำนมดิบเพิ่มขึ้น 31.8 % คุณภาพน้ำนมดิบเพิ่มขึ้น 0.91 % และสามารถต้นทุนการผลิต 6.6 % ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้ว

วันที่ 30 มีนาคม 2567 นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลง ( MOU ) ซื้อขายข้าวโพดพร้อมฝักหมัก (Corn Silage) ระหว่างผู้ประกอบการกับสหกรณ์โคนมหนองบัวลำภู ณ สำนักงานสหกรณ์โคนมหนองบัวลำภู จำกัด อำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู โดยมี น.สพ. ประภาส  ภิญโญชีพ รองอธิบดีบดีกรมปศุสัตว์ ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด นายสุวิทย์ จันทร์หวร ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรให้การต้อนรับ

นายไชยา กล่าวว่า ตามที่ได้เกิดสถานการณ์วิกฤตอาหารสัตว์ราคาแพงส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ได้จัดทำโครงการช่วยเหลือเกษตรกรโคนมภายใต้วิกฤตอาหารสัตว์ราคาแพง หรือ “นาวังโมเดล” เพื่อส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมใช้ “ข้าวโพดหมัก” เป็นแหล่งอาหารคุณภาพ โดยนำข้าวโพด พร้อมฝักหมักหรือ Corn silage มาใช้เป็นแหล่งอาหารหยาบคุณภาพดีสำหรับการเลี้ยงโคนมในพื้นที่ ซึ่งช่วยลดต้นทุนด้านอาหารสัตว์

ทั้งนี้จากผลการดำเนินงาน พบว่า ปริมาณน้ำนมดิบเพิ่มขึ้น 31.8 % คุณภาพน้ำนมดิบเพิ่มขึ้น 0.91 % และสามารถต้นทุนการผลิต 6.6 % ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถประกอบอาชีพการเลี้ยงโคนม เป็นอาชีพหลักได้อย่างมั่นคง และยั่งยืนตลอดไป

จากนั้นนายไชยา ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมแปลงสาธิตการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดพร้อมฝักบ้านนากลาง อำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู และเยี่ยมชมกิจกรรมการเลี้ยงโคนมของฟาร์มต้นแบบนาวังโมเดล และการสาธิตการผลิต Corn Silage ชนิดอัดก้อน บรรจุถุง และบรรจุบ่อหมัก (Bunker) และเดินทางต่อไปยังกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงไก่งวง บ้านโป่งแค อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ

พร้อมรับฟังปัญหาพร้อมหาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อให้สามารถจำหน่ายผลผลิตสินค้าไก่งวงทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนสนับสนุนงบประมาณจากทางจังหวัดในการสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไก่งวง เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรแบบยั่งยืน พร้อมให้กำลังใจเกษตรกรในพื้นที่ อีกด้วย