สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลำพูนเข้มงวดมาตรการควบคุมป้องกันโรคระบาดสัตว์ปีก (ฉบับที่ 2)
ด้วยได้เกิดโรคระบาดสัตว์ปีกชนิด โรคอหิวาต์เป็ด-ไก่ และโรคหลอดลมอักเสบติดต่อในไก่ ในพื้นที่บ้านหนองเหียง หมู่ที่ 5 ตำบลหนองหนาม อำเภอเมืองลำพูน ในไก่พื้นเมือง(ไก่ชน) ซึ่งสำนักงานปศุสัตว์อำเภอเมืองลำพูนได้ประกาศกำหนดเขตโรคระบาดสัตว์ชั่วคราว รัศมีควบคุมโรค 5 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองหนาม ตำบลเวียงยอง ตำบลบ้านแป้น ตำบลเหมืองจี้ และตำบลป่าสัก (5 ตำบล 49 หมู่บ้าน) ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม– 30 สิงหาคม 2560 และในพื้นที่บ้านหนองหอย หมู่ที่ 5 ตำบลป่าซาง อำเภอป่าซาง ในไก่ไข่ ซึ่งสำนักงานปศุสัตว์อำเภอป่าซาง ได้ประกาศกำหนดเขตโรคระบาดสัตว์ชั่วคราว รัศมีควบคุมโรค 5 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ตำบล ป่าซางและตำบลม่วงน้อย (2 ตำบล 13 หมู่บ้าน) ระหว่างวันที่ 4 สิงหาคม – 3 กันยายน 2560 รายละเอียดตามประกาศกำหนดเขตโรคระบาดสัตว์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการควบคุมโรคทั้ง 2 พื้นที่ ประกอบกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ฤดูฝน มีฝนตกชุก อากาศชื้น ส่งผลให้สุขภาพสัตว์ปีกอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันโรคต่ำ มีความเสี่ยงต่อ การติดเชื้อโรคได้ง่าย
ดังนั้น สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลำพูนขอเน้นย้ำมาตรการควบคุมป้องกันโรคระบาดในสัตว์ปีก เพื่อลดความเสี่ยง โดยมีข้อแนะนำ ข้อควรปฏิบัติ รวมทั้งขอความร่วมมือ เกษตรกรเจ้าของสัตว์ ดังต่อไปนี้
1.) เข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ (วิธีการป้องกันเชื้อโรคเข้า-ออกฟาร์มหรือสถานที่เลี้ยง)
2.) ทำความสะอาดและทำลายเชื้อโรคที่วัสดุ-อุปกรณ์ ยานพาหนะ โรงเรือนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตัดวงจรเชื้อโรคบ่อยๆ อย่างน้อยทุก 3 วัน
3.) การเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกและซากสัตว์ปีกออกจากพื้นที่ควบคุมโรคเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย การเคลื่อนย้ายฯ ต้องมีใบอนุญาตพร้อมแนบผลตรวจโรค
4.) ซากสัตว์ปีกป่วย/ตาย ห้ามบริโภค ไม่นำไปทิ้งในพื้นที่สาธารณะ ให้ทำการฝังหรือเผา ตามหลักวิชาการ ความลึกก้นหลุมอย่างน้อย 50 เซนติเมตร พูนดินกลบสูง 50 เซนติเมตร โรยด้วยปูนขาวหรือฉีดพ่นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
5.) สถานที่เลี้ยงสัตว์ปีกหลังบ้าน ควรมีเล้าหรือโรงเรือนเพื่อป้องกันลม แดด ฝน
6.) ควรทำวัคซีนป้องกันโรคระบาดชนิดต่าง ๆ พร้อมทั้งให้ยาปฏิชีวนะ วิตามิน เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
7.) ระยะนี้ควรชะลอการนำสัตว์ปีกเข้าเลี้ยงใหม่ อย่างน้อย 1 เดือน หากจำเป็นสัตว์ปีกที่ซื้อมาใหม่ ไม่ควรนำเข้าเลี้ยงรวมกับสัตว์ที่มีอยู่เดิมโดยทันที ควรแยกกักดูอาการอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนนำเข้ารวมฝูง
8.) สัตว์ปีกในระบบฟาร์มมาตรฐาน เก็บตัวอย่าง ทุกสัปดาห์ ทุกรุ่นการผลิต พักฟาร์มอย่างน้อย 21 วัน การเตรียมโรงเรือนและพักโรงเรือน ต้องรับรองโดยสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม หากพบโรคระบาดจะไม่อนุญาตเข้าเลี้ยงใหม่ อย่างน้อย 1-3 เดือน และให้ทำความสะอาดและทำลายเชื้อโรค อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง
9.) หมั่นสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงในพื้นที่ หากพบสัตว์แสดงอาการป่วย ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ หรือปศุสัตว์จังหวัด เพื่อให้ความช่วยเหลือ เข้าตรวจสอบ เก็บตัวอย่างและควบคุม ป้องกันโรคฯ โดยเร่งด่วนต่อไป
10.) งดไปในสถานที่เสี่ยง จุดรวมคนรวมสัตว์ ตลาดนัดสัตว์ปีกและโรงฆ่าสัตว์ หากจำเป็นให้อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า ก่อนเข้าไปเลี้ยงสัตว์
11.) ประชาสัมพันธ์เตือนภัยไปยังเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกรายอื่นๆ และประชาชนโดยทั่วไป เพื่อทราบโดยทั่วกัน
ในการนี้ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลำพูน ได้สั่งการและกำหนดมาตรการฯ ต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรคและเพื่อควบคุมโรคให้สงบโดยเร็ว ไปยังสำนักงานปศุสัตว์อำเภอทุกอำเภอ ดังต่อไปนี้
1.) บูรณาการส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและเครือข่ายเฝ้าระวังโรค รณรงค์ค้นหาโรค แจ้งข่าว เตือนภัย รายงานสถานการณ์เป็นประจำทุกวัน ในพื้นที่ทุกอำเภอ
2.) เมื่อได้รับแจ้งสัตว์ปีกป่วย/ตาย หรือสงสัยการป่วย/ตายด้วยโรคระบาดสัตว์ ให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ประจำพื้นที่เร่งดำเนินการติดตาม ตรวจสอบ สอบสวนโรค เก็บตัวอย่าง สั่งกักสัตว์/ซากสัตว์ เพื่อควบคุมโรคโดยด่วนที่สุด
3.) รณรงค์ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อทำลายเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยง พื้นที่สาธารณะ พื้นที่เลี้ยงสัตว์ปีกหนาแน่น รวมทั้งประสานขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประจำพื้นที่ ในการดำเนินการทำลายเชื้อโรคบริเวณพื้นที่เลี้ยงสัตว์ปีกของเกษตรกรโดยทั่วไปในห้วงเวลาเดียวกัน เพื่อตัดวงจรเชื้อโรคในสิ่งแวดล้อมพร้อมๆกัน
4.) ซากสัตว์ปีกป่วย/ตาย ให้ฝังหรือเผา ตามหลักวิชาการ
5.) ด่านกักกันสัตว์ลำพูน จะควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกและซากสัตว์ปีกโดยเข้มงวด จัดตั้งจุดตรวจสัตว์และชุดปฏิบัติการตรวจสัตว์เคลื่อนที่ เพื่อป้องกันการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์/ซากสัตว์ผิดกฎหมาย เพื่อลดการแพร่กระจายโรค
6.) ประชาสัมพันธ์เตือนภัย เสริมสร้างความความรู้ความเข้าใจ ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก และภาคประชาชนโดยทั่วไป ให้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริง เพื่อให้ตระหนักและลดความตื่นตระหนก
7.) จังหวัดลำพูน ได้งดกิจกรรมชนไก่/ซ้อมชนไก่ ระหว่างวันที่ 1 – 31 สิงหาคม 2560
ทั้งนี้ ขอให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก หมั่นสังเกตอาการสัตว์เลี้ยง หากพบสัตว์แสดงผิดปกติหรือสงสัย หรือต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถแจ้งข่าวสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ได้ที่ต่อเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอประจำพื้นที่ หรือที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลำพูน โทรศัพท์ 053-511-288 ต่อ 15 หรือจดหมายอีเลกโทรนิกส์ ; This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.สำหรับหมายเลขโทรศัพท์สำนักงานปศุสัตว์อำเภอประจำพื้นที่ ดังต่อไปนี้
สำนักงานปศุสัตว์อำเภอเมืองลำพูน หมายเลขโทรศัพท์ 053-511-568
สำนักงานปศุสัตว์อำเภอป่าซาง หมายเลขโทรศัพท์ 053-005-177
สำนักงานปศุสัตว์อำเภอบ้านโฮ่ง หมายเลขโทรศัพท์ 053-980-558
สำนักงานปศุสัตว์อำเภอลี้ หมายเลขโทรศัพท์ 053-979-474
สำนักงานปศุสัตว์อำเภอแม่ทา หมายเลขโทรศัพท์ 053-976-590
สำนักงานปศุสัตว์อำเภอทุ่งหัวช้าง หมายเลขโทรศัพท์ 053-975-223
สำนักงานปศุสัตว์อำเภอบ้านธิ หมายเลขโทรศัพท์ 053-985-169
สำนักงานปศุสัตว์อำเภอเวียงหนองล่อง หมายเลขโทรศัพท์ 053-504-509
ดาวน์โหลดเอกสารแนบดาวน์โหลดเอกสารแนบ
ข้อมูล / ข่าว : กลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลำพูน