โรคแอนแทรกซ์ หรือชาวบ้านเรียกว่าว่าโรคกาลี เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ Bacillus anthracis เป็นโรคที่รู้จักกันมาแต่โบราณ เป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่า เช่น ช้าง เก้ง กวางและสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ แกะ แล้วติดต่อไปยังคนและสัตว์อื่น เช่น เสือ สุนัข แมว สุกร โรคมักจะเกิดในท้องที่ซึ่งมีประวัติว่าเคยมีโรคนี้ระบาดมาก่อน

            ในคน เชื้อนี้ก่อให้เกิดโรคในคน 3 แบบ คือที่ผิวหนัง ที่ปอดจากการสูดดม และที่ทางเดินอาหารจากการกิน ส่วนใหญ่จะติดต่อทางผิวหนังโดยการสัมผัสสัตว์ป่วย หรือสัมผัสกับผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากสัตว์ป่วย บุคคลที่เป็นโรคนี้พบมากในกลุ่มที่มีอาชีพทางเกษตรกรรม นอกจากนี้ได้แก่ คนชำแหละเนื้อ หรือผู้ที่ใกล้ชิดกับสัตว์ป่วย โรคนี้ติดต่อมาสู่คนเนื่องจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือขาดความระมัดระวัง แอนแทรกซ์ผิวหนังจะเกิดจากเชื้อเข้าสู่ผิวหนังบริเวณรอยถลอกหรือบาดแผล โรคแอนแทรกซ์ทางเดินหายใจเกิดจากการสูดหายใจเอาสปอร์ซึ่งติดมากับขนสัตว์ที่ส่งมาจากท้องถิ่นมีโรค การติดต่อทางระบบหายใจยังไม่เคยมีรายงานในประเทศไทย ส่วนแอนแทรกซ์ของระบบทางเดินอาหารมีสาเหตุจากการกินเนื้อสัตว์ที่ป่วยตายด้วยโรคนี้ แล้วไม่ปรุงให้สุกเพียงพอ ระยะฟักตัวในคนตั้งแต่รับเชื้อจนถึงขั้นแสดงอาการ อยู่ระหว่าง 12 ชั่วโมง ถึง 7 วัน แต่ถ้าเป็นกรณีสูดหายใจเอาสปอร์ของเชื้อ ระยะฟักตัวอาจยาวนานถึง 60 วัน

            ในสัตว์ ส่วนมากระยะฟักตัวจะเร็ว โดยเฉพาะในรายที่รับเชื้อทั้งจากการกินและการหายใจเอาเชื้อเข้าไป ส่วนมากสัตว์จะติดโรคจากการกินและหายใจโดยได้รับสปอร์ซึ่งอยู่ตามทุ่งหญ้าที่เคยมีสัตว์ตายด้วยโรคนี้มาก่อน แต่ในช่วงต้นๆ ของการระบาดของโรค (ปลายฤดูร้อนต่อต้นฤดูฝน) สัตว์จะติดโรคจากการกินและจากการหายใจพร้อมๆ กัน  โดยเกิดจากขณะที่สัตว์แทะเล็มกินหญ้าก็จะดึงเอารากที่ติดดินขึ้นมาด้วย สปอร์ของแอนแทรกซ์ที่ติดอยู่ตามใบหญ้าและในดินก็จะเข้าทางปากและฝุ่นที่ปลิวฟุ้งขณะดึงหญ้าสปอร์ก็จะเข้าทางจมูกโดยการหายใจเข้าไป

การป้องกันสำหรับประชาชน

1. ห้ามขายซากสัตว์หรือส่วนใดๆ ของซากสัตว์ที่ตายด้วยโรคนี้เพื่อเป็นอาหาร หรือนำไปผลิตเป็นสินค้า

2. พยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือรับประทานสัตว์ป่วย หรือผลิตภัณฑ์สัตว์ป่วย

3. การเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่สะอาดและปลอดภัยจากโรงฆ่าสัตว์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานในการนำมาบริโภค

4. หากพบสัตว์ป่วยป่วยและไม่ทราบสาเหตุการตาย

    4.1  ห้ามชำแหละซากเอาเนื้อไปใช้เป็นอาหาร และห้ามผ่าซากสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคแอนแทรกซ์ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อจากบริเวณที่มีสัตว์ตาย

     4.2 ให้ขุดหลุมฝัง ลึกต่ำกว่าผิวดินประมาณ 1 เมตร หากมีปูนขาวหรือขี้เถ้าให้โรยบนซากหนาประมาณ 2 – 3 เซนติเมตร แล้วจึงกลบ เชื้อที่อยู่ในซากก็จะตายเองโดยความร้อนที่เกิดจากการสลายเน่าเปื่อยในธรรมชาติและควรเลือกฝังในบริเวณที่ใกล้ที่สุดกับที่สัตว์ตาย ให้มีการเคลื่อนย้ายซากสัตว์ให้น้อยที่สุด

    4.3 อาจเผาซากให้ไหม้มากที่สุด แล้วจึงขุดหลุมฝังกลบอีกชั้นหนึ่งก็ได้

5. ในฝูงสัตว์ที่รีดนมควรมีการเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิด และถ้าสัตว์ตัวใดแสดงอาการไข้เกิดขึ้นควรจับแยกและน้ำนมที่รีดมาควรทำลายทันที

6. ฉีดวัคซีนแก่สัตว์โดยเฉพาะโค กระบือ ในขณะที่มีโรคระบาดทันทีและฉีดยากระตุ้นซ้ำให้แก่สัตว์ในบริเวณเคยเกิดโรคระบาด หรือบริเวณติดต่อกับพื้นที่ติดโรคทุกปี สัตว์ที่ป่วยให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เมื่อหายดีแล้ว ให้รีบฉีดวัคซีน สัตว์ที่สัมผัสโรคแต่ยังไม่ป่วย อาจใช้วิธีเดียวกันนี้ได้

7. ในกรณีที่ต้องสัมผัสสัตว์ต้องจัดเสื้อผ้าสำหรับเปลี่ยนเวลาทำงาน อุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงมือและรองเท้าบู๊ท มีบริเวณชำระล้างและทำความสะอาดร่างกายภายหลังการปฏิบัติงาน และจัดที่รับประทานอาหารแยกจากบริเวณทำงาน โรงงานที่ปนเปื้อนเชื้อ ต้องอบฆ่าสปอร์ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ

ทั้งนี้หากพบสัตว์ป่วย/ตาย โดยไม่ทราบสาเหตุหรือมีอาการน่าสงสัย

ให้แจ้ง สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ ในพื้นที่/สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลำพูน

หมายเลขโทรศัพท์ 053 – 511288 ต่อ 15