ตามที่มีกระแสข่าวพบผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ ที่มหาวัน เชียงใหม่ รวมทั้งที่จังหวัดลำพูนมีชุมชนชื่อมหาวัน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูนเช่นกัน ซึ่งอาจทำให้ประชาชนโดยทั่วไปเกิดความสับสนตื่นตระหนกได้ ข้อเท็จจริง กระทรวงสาธารณสุขโดยนายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข ได้ระบุยืนยันตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อโรคแอนแทรกซ์ เพศชาย จำนวน 2 ราย จากตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตรวจพบตุ่มหนอง แผลหลุมสีดำที่มือ ต่อมน้ำเหลืองบวมโต อยู่ระหว่างการรักษา ซึ่งยาปฏิชีวนะยังใช้ได้ผลดีในการรักษาเชื้อโรคดังกล่าว (หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 3 ธันวาคม 2560 หน้า 7)
ในการนี้ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลำพูนขอยืนยันว่า “ไม่มีการตรวจพบโรคแอนแทรกซ์” ทุกพื้นที่ของจังหวัดลำพูน แม้ว่าจะมีชื่อชุมชนมหาวัน ซึ่งพ้องกับชื่อตำบลที่มีรายงานการตรวจพบโรคแอนแทรกซ์ก็ตาม ขณะเดียวกัน ในเบื้องต้นได้แจ้งให้ปศุสัตว์อำเภอทุกอำเภอ เฝ้าระวังตรวจสอบสภาวะโรคในพื้นที่ โดยเฉพาะ การป่วยตายสัตว์กีบคู่ที่มีลักษณะป่วยตายกระทันหัน มีเลือดออกตามทวารต่างๆ และซากไม่แข็งตัว ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคฯ ดังกล่าว รวมทั้งชี้แจงประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริงเพื่อป้องกันและลดความตื่นตระหนกของ ภาคประชาชนในวงกว้าง สามารถลดความเสี่ยงโดยเมื่อพบสัตว์เลี้ยงป่วยตายผิดปกติ ไม่ควรชำแหละด้วยมือเปล่า โดยเฉพาะผู้มีแผลที่มือเชื้อโรคสามารถติดต่อทางบาดแผลได้ และห้ามนำไปบริโภคโดยเด็ดขาด สัตว์ป่วยตาย ด้วยโรคนี้ “ห้ามผ่าซาก” เนื่องจากการผ่าซากจะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายในสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว ติดต่อไปยัง สัตว์กีบคู่ตัวอื่นๆ ได้ หากพบสัตว์เลี้ยงแสดงอาการผิดปกติหรือสงสัย ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ประจำพื้นที่โดยทันที
โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) เป็นโรคสัตว์ติดคนที่ร้ายแรงโรคหนึ่ง จึงนิยมเรียกโรคนี้ว่า "โรคกาลี"
โค กระบือ และแกะ ที่ป่วยเป็นโรคแบบเฉียบพลันมีลักษณะสำคัญคือ สัตว์ป่วยจะตายอย่างรวดเร็ว มีเลือดสีดำคล้ำไหลออกตามทวารต่างๆ ซากไม่แข็งตัว
สาเหตุและการแพร่โรค โรคนี้มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ แบซิลลัส แอนทราซิส (Bacillus anthracis) พบมากในช่วงการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล สัตว์ที่เป็นโรคนี้ส่วนมากเกิดจากการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนอยู่ในดินหรือหญ้าเข้าสู่ร่างกาย หรืออาจเกิดจากการกินน้ำและอาหารที่มีเชื้อปะปนอยู่เข้าไป แต่สัตว์จะเป็นโรคนี้โดยเชื้อเข้าทางบาดแผลได้เช่นกัน เมื่อเชื้อเข้าตัวสัตว์แล้วจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นกระจายอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย พร้อมกับสร้างสารพิษขึ้นมาทำให้สัตว์ป่วยและตายในที่สุด ในระหว่างสัตว์ป่วยเชื้อจะถูกขับออกมากับอุจจาระ น้ำปัสสาวะหรือน้ำนม เมื่อทำการเปิดผ่าซาก เชื้อนี้เมื่อสัมผัสกับอากาศก็จะสร้างสปอร์หรืออาจเรียกได้ว่าเกราะหุ้มตัวในเวลาเวลา 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้ตัวมันเองคงทนอยู่ในสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ กล่าวกันว่าสามารถอยู่ในดินได้นานกว่า 10 ปี ขึ้นไป มีโอกาสที่จะเกิดโรคในที่แห่งเดิมได้อีกถ้าสภาวะแวดล้อมเหมาะสมในการเจริญเติบโตของตัวเชื้อ และเชื้อคงทนในน้ำเดือดได้นานถึง 30 นาที ซากสัตว์ให้ทำลายโดยการฝังหรือเผาซากสัตว์ตลอดจนดินบริเวณที่สัตว์ตาย การฝังควรขุดหลุมลึกประมาณ 2 เมตร โรยปูนขาวบนตัวสัตว์ก่อนกลบดิน
อาการ สัตว์เป็นโรคนี้แบบเฉียบพลันจะตายอย่างรวดเร็วภายในเวลา 1-2 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นแบบรุนแรงจะตายภายใน 1-2 วัน สัตว์จะมีอาการซึม หายใจเร็ว ลึก หัวใจเต้นเร็ว ไข้สูงประมาณ 107 องศาฟาเรนไฮท์ เยื่อชุ่มต่างๆ มีเลือดคั่งหรือมีจุดเลือดออก กล้ามเนื้อสั่น บวมน้ำตามลำตัว น้ำนมลดอย่างรวดเร็วและอาจมีเลือดปนหรือมีสีเหลืองเข้ม ท้องอืดและตายในที่สุด เมื่อสัตว์ตายจะมีเลือดสีดำคล้ำไหลออกตามทวารต่างๆ เช่น จมูก ปาก ทวารหนักหรือแม้แต่ขุมขน ซากสัตว์จะขึ้นอืดเร็ว ไม่แข็งตัว ถ้าทำการเปิดผ่าซากจะพบเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ พบของเหลวสีน้ำเลือดภายในช่องอกและช่องท้อง ลำไส้อักเสบรุนแรงมีเลือดออก เลือดไม่แข็งตัวและม้ามขยายใหญ่เห็นได้ชัดเจน ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของโรคนี้ ในคนที่ทำการผ่าซากหรือบริโภคเนื้อสัตว์ป่วยด้วยโรคนี้แบบสุกๆ ดิบๆ จะพบแผลหลุมตามนิ้วมือ แขน หรือช่องปาก และมีอาการเจ็บปวดในช่องท้อง โรคนี้สามารถทำให้คนตายได้หากตรวจพบโรคช้า หรือรักษาไม่ทัน
โรคแอนแทรกซ์ในคน มี 4 รูปแบบ
แอนแทรกซ์ที่ผิวหนังหรือตุ่มพิษ พบบ่อยกว่าแอนแทรกซ์ชนิดอื่นๆ ผู้ป่วยติดโรคโดยการสัมผัสกับเชื้อซึ่งมีอยู่ทั่วไปในทุกส่วนของซากสัตว์ เช่น เนื้อ หนัง เลือด ขน กระดูก เชื้อเข้าทางลอยถลอก ขีดข่วนหรือบาดแผลบนผิวหนัง ภายใน 2 ถึง 5 วัน จะเกิดตุ่มแดง ต่อมา 2 วัน 3 วัน จะกลายเป็นตุ่มพองแต่ตุ่มนี้จะแตกออก ตรงกลางแผลยุบลงกลายเป็นสะเก็ดสีดำรอบๆ บวมแดง อักเสบ แผลแอนแทรกซ์มักพบที่นิ้ว มือ แขน และหน้า ผู้ป่วยมักไม่รู้สึกเจ็บปวดหรือคันที่บาดแผล แต่มักมีอาการบวมรอบๆ แผล และต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง แผลจะอยู่ที่เดิมไม่ลามไปที่อื่น เมื่อได้รับการรักษาแผลจะยุบลงช้าๆ และมักเกิดรอยแผลเป็น ถ้าไม่รีบรักษาเชื้ออาจจะเข้ากระแสเลือดเกิดอาการเป็นพิษถึงตายได้ ข้อควรระวัง : การรักษาแผลไม่ควรแกะสะเก็ดออกเพราะจะทำให้เชื้อสร้างเกาะหุ้มตัวและเกิดการแพร่กระจายได้
แอนแทรกซ์ที่ทางเดินอาหาร สาเหตุเกิดจากการกินเนื้อสัตว์ที่ตายด้วยโรคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารที่กินดิบๆ หรือไม่สุกเพียงพอ เช่น ลาบ ลู่ เชื้อจะเจริญเติบโตและทำให้เกิดแผลเนื้อตายในกระเพาะอาหาร ลำไส้ ผู้ป่วยจะมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องขึ้น อุจจาระร่วง บางครั้งมีมูกเลือดปนและมีอาการขาดน้ำอย่างรวดเร็ว บางรายอาจช็อก และถึงแก่ความตายได้
แอนแทรกซ์ในปากและคอหอย ติดโดยการกินเช่นเดียวกับแอนแทรกซ์ที่ทางเดินอาหาร ผู้ป่วยจะแสดงอาการเจ็บคอ คอบวม แข็งตึง และกลืนอาหารลำบาก เพราะมีแผลเนื้อตายที่คอและคอหอย
แอนแทรกซ์ที่ทางเดินหายใจ สาเหตุเกิดจากการหายใจเอาเชื้อเข้าไป เชื้อจะแบ่งตัวและไปยังต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด ผู้ป่วยจะแสดงอาการคล้ายกับโรคระบบหายใจอื่นๆ เช่น ไอ หายใจขัด หายใจลำบาก แต่อาการจะรุนแรงและเป็นรวดเร็วมาก การวินิจฉัยและการรักษาค่อนข้างยาก ผู้ป่วยมักถึงแก่ความตายในที่สุด แอนแทรกซ์ชนิดนี้ พบไม่ค่อยบ่อยนัก
การรักษาจะได้ผลดีเมื่อได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ ด้วยยาจำพวกเพนนิซิลิน กรณีผู้ป่วยแพ้เพนนิซิลิน อาจใช้เตตร้าไซคลิน หรือยาปฏิชีวนะอื่น หรือ ยาซัลฟา
ทั้งนี้ ขอให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ หมั่นสังเกตอาการสัตว์เลี้ยง หากพบสัตว์เลี้ยงแสดงผิดปกติหรือสงสัย หรือต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอประจำพื้นที่ หรือที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลำพูน โทรศัพท์ 053-511-288 ต่อ 15 หรือจดหมายอีเลกโทรนิกส์ ; This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. สำหรับหมายเลขโทรศัพท์สำนักงานปศุสัตว์อำเภอประจำพื้นที่ ดังต่อไปนี้
สำนักงานปศุสัตว์อำเภอเมืองลำพูน 053-510-568 สำนักงานปศุสัตว์อำเภอป่าซาง 053-005-177
สำนักงานปศุสัตว์อำเภอบ้านโฮ่ง 053-980-558 สำนักงานปศุสัตว์อำเภอลี้ 053-979-474
สำนักงานปศุสัตว์อำเภอแม่ทา 053-976-590 สำนักงานปศุสัตว์อำเภอทุ่งหัวช้าง 053-975-223
สำนักงานปศุสัตว์อำเภอบ้านธิ 053-985-169 สำนักงานปศุสัตว์อำเภอเวียงหนองล่อง 053-504-509
ที่มา
ทัศนีย์ ชมภูจันทร์, มนัสนันนท์ ประสิทธิรัตน์ และมนยา เอกทัตร์ (บรรณาธิการ). 2539. คู่มือการดูแลสุขภาพโคนม" สถาบันสุขภาพสัตว์ แห่งชาติ. ฟันนี่พับบลิชิ่ง.
ทัศนีย์ ชมภูจันทร์, สุรีย์ ธรรมศาสตร์, ปนันท์ ธนเจริญวัชร, จิรา คงครอง และเอกรินทร์ วัฒนพลาชัยกูร (บรรณาธิการ). 2539. คู่มือมาตรฐานการชันสูตรโรคสัตว์. สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ.โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
เอกสารวิชาการ "โรคแอนแทรกซ์" กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข.แผนกสัตวแพทย์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (ฝ่ายสหรัฐฯ) และ กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข