
วันที่ 17 เมษายน 2568 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลำพูน โดย นสพ.สมบัติ ศุภประภากร ปศุสัตว์จังหวัดลำพูน ในฐานะคณะทำงานและเลขานุการ คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการอาหารเสริมนมเพื่อเด็กและเยาวชน จังหวัดลำพูน และกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลำพูน จัดประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการอาหารเสริมนมเพื่อเด็กและเยาวชน จังหวัดลำพูน ครั้งที่ 1/2568 ณ ห้องประชุมสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดลำพูน ชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดลำพูน เพื่อแจ้งให้คณะทำงานฯ ทราบถึงปัญหาของโครงการฯและหาแนวทางการแก้ไข โดยมีนายชาตรี ธินนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานการประชุมในครั้งนี้
โดยมีวาระการประชุม ดังนี้
เรื่องที่ประธานแจ้งที่ประชุมทราบ
ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขาฯ แจ้งแก่คณะทำงานทราบถึงอำนาจหน้าที่ตามคำสั่งให้แก่คณะทำงานได้รับทราบ วาระเรื่องเพื่อทราบได้นำเรียนที่ประชุม
- แจ้งคำสั่งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน กลุ่มที่ 4 (เขตปศุสัตว์ที่ 5 และเขตปศุสัตว์ที่ 6) ที่ 3356/2567 ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2567 เรื่อง ยกเลิกคำสั่งและแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบโรงงานหรือสถานประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์นมโรงเรียน และแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนระดับจังหวัด (เขตปศุสัตว์ที่ 5 และเขตปศุสัตว์ที่ 6) องค์ประกอบของคณะทำงานที่ 5 คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน จังหวัดลำพูน โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน (ที่กำกับดูแลภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) เป็นประธานคณะทำงาน และมีปศุสัตว์จังหวัดลำพูน เป็นคณะทำงานและเลขานุการ
- แจ้งประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ลงวันที่ 30 เมษายน 2567 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567
- แจ้ง(ร่าง) ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2568
พร้อมทั้งแจ้งที่ประชุมถึงความแตกต่างระหว่างประกาศเดิมและประกาศใหม่ที่ส่งผลกระทบกับสหกรณ์ที่ทำ MOU กับบริษัทแปรรูปผลิตภัณฑ์นมที่เข้าร่วมโครงการฯ
วาระเพื่อพิจารณา ได้แจ้งที่ประชุมถึงปัญหาน้ำนมดิบจากการทำ MOU โครงการฯ จาก 3 สหกรณ์ได้แก่ สหกรณ์โคนมแม่ทา,สหกรณ์โคนมบ้านโฮ่ง และสหกรณ์โคนมหริภุญชัย ซึ่งได้รับผลกระทบจากการขอยกเลิกการรับซื้อน้ำนมดิบจากบริษัทที่ร่วมทำ MOU โดยจะหยุดรับซื้อน้ำนมดิบตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568 โดยทางบริษัทได้แจ้งว่า ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ และวิธีการดำเนินโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน ซึ่งทางสหกรณ์ทั้ง 3 สหกรณ์ไม่สามารถระบายน้ำนมดิบที่ทำ MOU แล้วได้ คณะทำงานที่เกี่ยวข้องจึงได้มีการรายงานข้อแก้ไขที่ทางสหกรณ์ทั้ง 3 สหกรณ์ได้ดำเนินดังนี้ น้ำนมดิบที่มีการทำ MOU แล้วถูกยกเลิก ได้มีการประสานหน่วยที่สามารถรับซื้อน้ำนมดิบดังกล่าวได้แล้ว แต่อาจส่งผลกระทบในส่วนของเงินทุนหมุนเวียนบ้างบางสหกรณ์ อีกทั้งมีการนำน้ำนมดิบไปผลิตเป็นนมกล่องเพื่อยืดอายุจำนวน 12,000 ลังโดยทางสหกรณ์จังหวัดได้มีการขอความอนุเคราะห์ทางสำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูนในการขายและประสานกับห้างร้านเพื่อจำหน่ายนมกล่องดังกล่าว ทั้งนี้เป็นการแก้ไขเฉพาะกิจ ที่ประชุมจึงได้มาการหารือเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นอีกทั้งในส่วนของปริมาณน้ำนมดิบและจำนวนนักเรียนที่อยู่ในโครงการฯ อีกทั้งหาช่องทางการตลาดเพื่อระบายน้ำนมดิบกรณีปริมาณน้ำนมเพิ่มขึ้น รวมถึงการจำกัดปริมาณการผลิตน้ำนมดิบของเกษตรกรเพื่อให้เกิดความสมดุลทางการค้า เป็นต้น
ทั้งนี้จะได้รายงานการประชุมแก่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน กลุ่มที่ 5 ต่อไป